057 ธรรมปัจเวกขณ์
วันที่ - - พฤศจิกายน ๒๕๒๖ สิ่งสำคัญอันนั้น เป็นทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย ซึ่งมันจะต้องเป็น ถ้าเราฉลาดใช้ มันจะเป็นไป แล้วมันจะเอื้อ ในการปฏิบัติธรรมเรามาก คือความไม่หม่นหมอง หรือความไม่ให้ อารมณ์ไม่ยินดีอยู่ในใจ เราปฏิบัติอย่างนี้ มันสอดคล้องกับคำว่า เบิกบาน แจ่มใส สอดคล้องกับคำว่า พุทธะ ขั้นปลาย และ มันจะเป็นองค์ประกอบ ที่จะชำระจิต โทสะจิตของเราตลอดเวลา จะเป็นกรรมฐานอย่างดียิ่ง ที่เราจะกลายเป็นคน ไม่โกรธเคือง หรือว่าโทสะมูลจิต ลดลงได้ตลอดเวลา คือถ้ารู้สึกว่า เรามีความไม่ยินดี ไม่ชอบใจขึ้น เมื่อไหร่ คำว่า ไม่ชอบใจนี่ มันเป็นปฏิฆะแล้ว ในภาษาบาลี ไม่ยินดีนั้นเป็นอรติ ในภาษาบาลี อ่อนกว่า มีสภาพธรรม ที่เบาบางกว่าปฏิฆะ แม้แต่ความไม่ยินดี ถ้าเรามีปัญญา อธิปัญญา สามารถจับติด ในอารมณ์ของตน ขอให้หยุดทันที และเปลี่ยนเป็น อารมณ์เบิกบาน ยินดีแจ่มใส แม้เราจะกำลังสัมผัสภาวะ ที่หนักหนาเหน็ดเหนื่อย ลำบาก เหงื่อไหลไคลย้อย ต่างๆนานาก็ตาม ถ้าเราคลาย อารมณ์ไม่ยินดี ยิ่งหยาบขั้น ไม่ชอบใจ เป็นปฏิฆะแล้ว ยิ่งไม่ต้องคิดเลย ขจัดออกทันที ยิ่งหยาบกว่านั้น เป็นการโกรธ ยิ่งไม่ต้องพูดใหญ่ เพราะว่า แน่นอนที่สุด เราจะต้อง ไม่ให้มีในใจของเรา อย่างแน่แท้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดจับความรู้อันนี้ แล้วก็ ประพฤติปฏิบัติ อันนี้เป็นเบื้องต้น และแม้แต่เบื้องกลาง เบื้องปลาย มันก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเราทำอันนี้ ก่อนเพื่อน หรือว่าระลึกเสมอ เป็นกรรมฐานประจำ เราจะเป็นคนเบิกบานแจ่มใส แม้จะเหน็ดเหนื่อย หนักหนา แม้จะยังมีกิเลสอื่น ที่ยังคลุกคนอยู่ในใจ เราก็จะเบาบาง เราก็จะบรรเทาได้มากที่สุด ขอให้พิจารณา และขอให้นำไปใช้ดู นี่เป็นยา หรือเป็นธรรมโอสถ เป็นธรรมาวุธอันสำคัญ ที่เราจะไปใช้ เราจะเห็นผล ของการบำบัด หรือว่าการแก้ไขตนเองที่ว่า ถ้าเราได้ประพฤติจริงๆ ทำจริงๆ เราจะรู้ว่า ทุกอย่างมันง่ายขึ้น ทุกอย่างมันเบาขึ้น แม้เราจะแบกหนัก เหงื่อไหลไคลย้อย ก็จะเบา เอ้า! เราจะมีอะไรปะทะอยู่ เขากำลังจะด่า เรื่องกำลังจะแรง อะไรร้ายอยู่ต่อหน้า ก็จะเบา จะเบาจริงๆ และจะมีผลดีขึ้น จะมีการสังเคราะห์ ที่ดีขึ้น จะมีเกิดปฏิกิริยาที่ดีขึ้น บรรยากาศนอก บรรยากาศใน ตัวเราเอง ก็จะดีขึ้นทันที ขอให้พิสูจน์กันจริงๆ นี่เป็นกรรมฐานสำคัญนะ ถ้าผู้ใดจับได้ทำได้ แต่แล้วแต่ใคร จะมีจิตแยบคาย ขนาดไหน ถ้าจับถึงขนาด ความไม่ยินดีนี่ยังจับไม่ได้ จับได้ความไม่ชอบใจ ก็เริ่มทำ ถ้ายิ่งโกรธแล้ว ถ้าจับไม่ได้ ก็ไม่รู้จะพูดกันยังไง ความโกรธ ความอาฆาตมาดร้าย แค้นเคืองหนักหนา ถ้าเรายิ่งจับไม่ได้ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว นักปฏิบัติธรรม พระโยคาวจร ที่ไม่รู้ แม้อารมณ์รุนแรงปานนั้น็ ก็ต้องเรียนกันหน่อยหละ ต้องเรียนกันมากหน่อย ต้องมาเริ่มต้นใหม่กันมาก แต่ถ้ารู้แล้ว แล้วพยายามรู้จัก วิธีการทำออก สลัดคืน อย่าให้มีอารมณ์อย่างนั้น อย่าให้มีสภาพอย่างนั้นในตน ถ้าทำได้ก็เก่งขึ้น สบายขึ้น เจริญขึ้น ส่วนจะเป็นราคะ เป็นโลภะ อื่นๆอีกนั้น เราก็จะค่อยๆเรียนรู้มัน ราคะจัด แรง เป็นอภิชฌาวิสมโลภะ เราก็จะต้องรู้ และแม้จะเป็นราคะ หรือเป็นความโลภ ชนิดรองลงไป อ่อนลงไป เราก็จะต้องเรียนรู้ ร้อยเรียงลงไป อย่างซับซ้อน ซาบซึ้ง ให้ดี เพราะว่าแม้แต่ที่สุด เราก็จะต้องใช้การปรารถนา เป็นการอยากใคร่ ที่เรียกว่า ธัมมกาโม นั่นแหละ เป็นเครื่องนำ และเป็นเครื่องอาศัย เพื่อที่จะขึ้นไปสู่ สุดท้าย จนมีคนต่อว่า ว่าถ้าเราต้องการ นิพพาน ปรารถนาความหลุดพ้น มันจะไม่ใช่กิเลสตัณหาหรือ เรายอมรับ ลำลองได้ทันทีว่า ใช่ จะเรียกว่า กิเลสตัณหา ก็ใช่ แต่ในภาวะซับซ้อนนั้น เราต้องการ การหลุดพ้น ต้องการนิพพานนั้น เราต้องการ การขจัดเอาอกุศลทุจริต หรือว่าตัวกิเลสตัณหา ที่หยาบคาย เห็นแก่ตัว นี่แหละออก เราละความเห็นแก่ตัว ตั้งแต่โลกหยาบ จนกระทั่งถึง โลกละเอียด จนแม้เราได้ดี เราก็ไม่หลงในดี ไม่ติดในดี ไม่ใช้ดีของเรานั้นไปข่มขู่ หรือว่าทำให้มันลำบากแก่ผู้อื่น จนเกินการ เราจะรู้จักลดหย่อนผ่อนเบา เราจะรู้จักขนาด เราจะคำนวณเป็น เราจะใช้ให้เกิดคุณค่าประโยชน์ แม้เราจะดีจริงแล้วก็ตาม ดั่งนี้เป็นต้น สุดท้ายเราก็รู้ว่า ดีก็คือสิ่งสร้าง เป็นสิ่งที่เกิดเป็นกรรม แม้แต่กรรมเหล่านี้ เราก็ไม่ติดยึด อโหสิ แม้แต่ดีนี่ เราเป็นเจ้าหนี้ เราก็จะสลัดคืน ความเป็นเจ้าหนี้อันนี้ ให้แก่โลกไป เราจะไม่ถือเป็น ของตัวของตนเลย แม้คุณงามความดี จะประเสริฐ เลิศยอด ดังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์มีคุณความดี ล้นเลิศ สุดสูง พระองค์ก็ยังไม่ติดยึดเอาไว้ ท่านก็สลัดคืน ให้แก่โลกไปทั้งหมด ไม่ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ เป็นเจ้าบุญ เจ้าคุณ เป็นเจ้าดีอย่างแท้ชัด นั่นคือสุดท้าย เราจะปลดปล่อยปานฉะนั้น เราจะค่อยๆ ไล่เลียงกัน แต่ฐาน ทำได้ดีหยาบๆ แล้วก็ดีกลางๆ แล้วก็ดีอย่างขั้นสูง ดีอย่างละเอียดขึ้นมา มันยิ่งเนียนใน มันยิ่งติดใจ มันยิ่งจะหลงความดี ที่เนียนใน ความดีที่วิเศษ ของเรามากขึ้น มันตีตลบกลับ อย่างงี้เสมอ แล้วเราก็จะปลดปล่อย ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปลดปล่อยได้ ดังพระอรหันต์เจ้า ปลดปล่อยได้ เพราะฉะนั้น แม้เราจะเป็นอนาคา เราก็จะต้องฝึกหัดปลงมานะ ปลดปลงความดี ไม่ยึดดีเป็นของตน ไม่เสพ ไม่ติด เป็นฐานสุดท้าย ทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเป็นสภาวะลึกซึ้ง ที่เราจะเรียนรู้ เป็นขั้นตอน ตั้งแต่หยาบไป เพราะฉะนั้น การโลภหรือราคะ หรือต้องการ ความต้องการที่สุด เป็นความต้องการทำดี เมื่อทำดีแล้ว ไม่ติดดีนั้น ไม่ใช่ภาษาพูด แต่เรียกเป็นภาษาพูดได้ สุดท้าย ผู้รู้ด้วยตนเป็นปัจจัตตังว่า เราทำอย่างนี้ เขาตู่ท้วง ตู่ได้ด้วยอากัปกิริยาความจงใจ แต่ว่าเรา จะปล่อยเป็น หรือปล่อยไม่เป็น วางสุดท้ายเป็นหรือไม่เป็น เราจะรู้เป็นปัจจัตตังของเรา บอกใคร ใครจะเชื่อก็เชื่อ ไม่เชื่อก็แล้วไป แล้วเราก็จะรู้อย่างแยบคายว่า บอกไปนั้น ตรงกับความเป็นจริง ที่เราสละ เราปล่อย ที่สุด ได้จริงๆนะ เอ้า! เราจะรู้ด้วยตน อย่างลึกซึ้งซ้อน สิ่งเหล่านี้บอกใครก็ไม่ได้ ถึงบอก เขาจะเชื่อ หรือไม่เชื่อก็ไม่ได้ การศึกษาชั้นสูงเหล่านี้ ก็จะมีเป็นที่สุด จะเรียกว่าเป็นตัณหา เป็นกิเลส เป็นวิภวตัณหา ระดับสุด ดังที่เคยอ้างให้ฟังว่า แม้พระพุทธเจ้าก็ปรารถนา จะสร้างพุทธบริษัท ให้ครบพุทธบริษัท ๔ และในพุทธบริษัท ๔ ของท่าน จะอบรมสั่งสอน ปรารถนาช่วยเหลือ ให้เขาเก่งที่สุด เป็นพหูสูตร เป็นผู้สาธยายธรรม เป็นผู้ท่องจำได้ เป็นผู้ทำลึกให้ตื้น ทำของหยาบให้ละเอียด ทำของยากให้ง่าย ทำของที่ไม่เปิดเผยได้ ให้ลึกซึ้ง เป็นผู้สามารถอบรม เป็นผู้สามารถสั่งสอน สืบศาสนาได้ ดังกล่าวง่ายๆ นี้อย่างแท้จริง นั่นก็จะว่า เป็นความปรารถนา ของพระพุทธองค์ ก็ปรารถนา ก็ต้องการ ก็มุ่งหมาย แต่เราจะเรียก ท่านว่า มีกิเลส หรือไม่มีกิเลส ผู้รู้ดีแล้วก็หมดปัญหา ใครจะกล่าวว่าท่านมีกิเลส แล้วจะถือว่า ไปว่า พระพุทธเจ้า มีกิเลส มีตัณหา ก็ถือโดยภาษา ถ้าใครจะไม่ถือโดยภาษา ด้วยความเข้าใจ อย่างสนิทเนียน แล้ว เราก็ไม่ถือ แต่มันเป็นกรรมกิริยาอย่างนั้น ดั่งนี้เป็นต้น เราจะเข้าใจ และเราจะไม่แก้ตัว เราจะเป็นผู้ที่แยบคาย อ่านรู้ความจริงอันสูง สูงสุด เราจะเป็นผู้ที่ทำได้ ตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด และก็ขอย้ำสุดท้าย เสียก่อนว่า เราจะเป็นผู้เรียนรู้จิตของเรา ตัวแรก ความไม่ยินดี ความไม่ชอบใจ อาการแม้อย่างนี้ เราจะเป็นผู้สลัดออกให้ได้ จะรู้เท่าทันอาการอย่างนี้ ให้เป็นทั้งเบื้องต้นและบั้นปลาย เราจะเป็นคนเบิกบานแจ่มใส สังคมเราจะมีแต่ผู้เบิกบาน แจ่มใส อารมณ์หดหู่ หม่นหมอง ความไม่ยินดี ความไม่ชอบใจ จะไม่มี แต่เราจะรู้ว่า สิ่งใดไม่ควร หรือสิ่งใด ควรจะปลดปล่อย หรือจะให้ออกห่าง เราก็จะรู้โดยธรรมะ ขอให้พิจารณา และใช้กรรมฐานนี้ ให้ได้ประโยชน์ แก่ตนทุกคน สาธุ. ธรรมปัจเวกขณ์ ๒๕๒๖
|